Saturday, March 3, 2012

ผลกระทบ พรก.เงินกู้ 350,000 ล้าน


บทวิเคราะห์ ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ จาก พรก.เงินกู้ 350,000 ล้านบาท

โดย ฝ่ายวิชาการ พรรคเพื่อไทย
ดร.เบญจวรรนรี โชติช่วงนิรันดร์


อัตราการเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือที่เรียกว่า GDP ตามทฤษฎีของเคนส์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 4 ด้าน คือ

1. การใช้จ่ายในการบริโภคภาคเอกชน (Consumption Expenditure :C )
2. การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนภาคเอกชน (Investment Expenditure : I )
3. การใช้จ่ายของรัฐบาล (Government Spending : G )
4. การใช้จ่ายเพื่อการส่งออกสุทธิ (Export – Import : X-IM)

กล่าวคือ ถ้า การใช้จ่ายทั้ง ๔ ด้านข้างต้น มีการเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้ GDP ของ
ประเทศเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้นสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา การใช้ปัจจัยการผลิตยังไม่เต็มที่และมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กมากเมื่อเทียบกับโลก การใช้นโยบายการคลังโดยการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำตามทฤษฎีของเคนส์ โดยเฉพาะเมื่อการใช้จ่ายนั้นนำไปเพื่อการลงทุน สร้างผลผลิตให้แก่ประเทศ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตมากขึ้น

เมื่อทำการวิเคราะห์ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ จากการออก พรก.เงินกู้ 350,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้เพื่อการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ ถือเป็นการลงทุนของประเทศ นำไปสู่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อไปยังรายได้ของประชาชน อำนาจซื้อของประชาชนจะเพิ่มขึ้น มีเงินจับจ่ายซื้อของได้มากขึ้น ภาคการผลิตก็ขายของได้มากขึ้น ก็อยากผลิตมากขึ้น ส่งผลให้มีการจ้างงานมากขึ้นไปอีก ยิ่งมีการเบิกจ่ายเงินเร็วเม่าไหร่ เงินจะยิ่งถูกหมุนเร็วเท่านั้น เศรษฐกิจของประเทศก็ยิ่งขยายตัวได้เร็วขึ้น ดังตาราง







Friday, May 6, 2011

นโยบายลดภาษีนิติบุคคล




นโยบายลดภาษีนิติบุคคล แค่หาเสียงหรือของจริง

by Dr. Benchawan Chantara
http://www.facebook.com/profile.php?id=100001243810390

ปัจจุบันภาครัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลในสัดส่วน 22.8% ของรายได้ภาครัฐทั้งหมด โดยในปี 2553 มูลค่าจากการเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 454,565 ล้านบาท จากจำนวนนิติบุคคลทั้งประเทศจำนวน 535,538 ราย แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 340,838 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำนวน 192,528 ราย ห้างหุ้นส่วนสามัญจำนวน 1,273 ราย และบริษัทมหาชนจำนวน 899 ราย

ทั้งนี้ สัดส่วนของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 1ล้านบาทอยู่ที่ร้อยละ 17 บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนระหว่าง 1- 4.9 ล้านบาท มีจำนวนร้อยละ73.79 บริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 5-9.9 ล้านบาท มีจำนวนร้อยละ 4 บริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 10 – 99.99 ล้านบาท มีจำนวนร้อยละ 2.4 ส่วนบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทขึ้นไปมีจำนวนร้อยละ 0.5

ดังนั้น แนวนโยบายลดเพดานภาษีรายได้นิติบุคคล จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 20

โดย ในระยะสั้นรัฐจะสูญเสียรายได้ แต่ในระยะยาวการลดภาษีนิติบุคคล จะทำให้ระดับรายได้ของประเทศปรับตัวสูงขึ้น จากการพิสูจน์ด้วยแบบจำลองผลิตภาพการผลิต ซึ่งพบว่าลดการเก็บมูลค่าภาษีรายได้นิติบุคคลลง 1% จะทำให้ ระดับรายได้ประชาชาติ เพิ่มขึ้น 0.132%

Y = 0.1063 K0.9 L0.29 TAXco-0.132



กล่าวคือ หาก ลดการเก็บมูลค่าภาษีรายได้นิติบุคคลลง 1% จะทำให้ ระดับรายได้ประชาชาติ เพิ่มขึ้น 0.132% ดังตารางที่แสดงการเปลี่ยนแปลงในรายได้จากภาษีของรัฐ กรณีใช้เครื่องมือทางภาษี



จากการที่พรรคการเพื่อไทยออกนโยบายด้วยการปรับลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ23% ในปี 2555 จะมีผลให้รายได้ของรัฐในส่วนนี้ลดลง 56,186.21115 ล้านบาท และลดลงอีกในปี 2556 เหลือ 20% จะมีผลให้รายได้จากภาษีนิติบุคคลลดลงอีกจำนวน 42,351.3748ล้าน บาท แต่ทั้งนี้ในอีกด้านหนึ่งการลดภาษีนิติบุคคลลงจะมีผลให้เกิดการกระตุ้น เศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย โดยอำนาจซื้อของคนเพิ่มขึ้น มีการจูงใจให้การลงทุนมากขึ้นเพราะกำไรมากขึ้น และถ้านำกำไรที่ได้ไปเพิ่มค่าแรง ก็จะส่งผลให้ประชาชนมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นทั้งระบบ สุดท้ายเศรษฐกิจภาพรวมจึงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนปัจจัยภาษีที่ลดลงจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตได้ร้อยละ 0.924 และร้อยละ 1.32 ในปี 2555 และปี 2556 ตามลำดับ



Friday, March 11, 2011

ประเมินการบริหารเศรษฐกิจ


การประเมินผลการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลปี2553/2554
ดร.เบญจวรรณ จันทระ


จากผลการประเมินนโยบายกู้เงิน ในโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใน 5 โครงการ คือ
1. โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น
2. โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก
3. โครงการประกันรายได้เกษตรกร
4. โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
5. โครงการเพิ่มทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ


ซึ่งมีผลการประเมินของ สศช. ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวทั้ง 5 โครงการอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการโครงการ ที่ยังต้องมีการปรับปรุงให้ตอบสนองความ

ต้องการของประชาชนในพื้นที่โครงการไห้เกิดมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาคมมีส่วนร่วมในการกำกับ ดูแล และตรวจสอบการดำเนินโครงการได้ อีกทั้งการดำเนินโครงการขาดกลไกและกระบวนการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญขาดการเข้าถึงและใช้บริการ ที่รัฐจัดให้ยังไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ดังนั้น การกู้เงิน 400,000 ล้านบาท ในปี 2553 ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตเพิ่มในประเทศ ไม่เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างที่รัฐบาลอ้าง แต่ทำให้ประเทศเป็นหนี้จริงเพิ่มขึ้น ซ้ำยังเกิดการทุจริตในโครงการของรัฐอย่างมากมายแต่ไม่มีการตรวจสอบ

สดงให้เห็นว่าคณะผู้บริหารของประเทศ จัดทำโครงการต่างๆอย่างไม่รอบคอบ ไม่มีการประเมินผลกระทบด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้าง ว่ามีความคุ้มค่าอย่างไร

นอกจากนี้คณะรัฐบมนตรีได้รับทราบผลการประเมินจาก สศช.ไปแล้วในวันอังคารที่ 8 มีนาคม 2554 และยังรับทราบปัญหาจากการอภิปรายผลการทำงานของรัฐในรอบ 1 ปี (2552-2553) ว่ามีประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหาค้างคาทั้งเรื่อง

• เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง
• วิกีลิกส์นำบทสนทนาของบุคคลระดับสูงของไทย 3 คนที่สนทนากับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยในลักษณะเข้าข่ายประทุษร้ายต่อองค์รัชทายาทและมีผู้เข้าชมเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการใด ๆ
• การทุจริตในการดำเนินโครงการต่าง ๆ และละเลยในการแก้ปัญหาการทุจริต
• ปัญหาสินค้าราคาแพง


ซึ่งเมื่อครม. รับทราบแล้ว ควรต้องดำเนินการแก้ไข แต่ปรากฎว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งเป็นความเดือดร้อนของประชาชน และรัฐบาลรับทราบ แต่ไม่มีแนวทางการแก้ปัญหา กลับมีความจงใจปล่อยให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น เช่น ปล่อยให้สินค้าบางตัวขาดแคลน และจงใจทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น เพื่อหวังเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งรัฐบาลไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง การที่อ้างได้ว่าสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น เพื่อนำไปออกงบเงินกู้กลางปี 100,000 บาท จึงเป็นการสร้างภาระทางการคลังของประเทศและสร้างภาระให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น

ที่ชัดเจนคือเรื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่วันนี้ รัฐบาล เก็บเงินเข้ารัฐสูงสุดถึงลิตรละ 18.5 กล่าวคือ ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่วันนี้ราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ลิตรละ 46.94 บาท แต่หากมองดูต้นทุนบวกค่าการตลาดพบว่ามีราคาอยู่ที่ 28.41 บาทต่อลิตร ที่เหลือคือเงินที่เข้ารัฐ หรือแม้แต่แก๊สโซฮอลย์ 95 ที่มีผู้ใช้มากที่สุด เงินที่เข้ารัฐก็สูงถึงลิตรละ 12 บาท จึงทำให้วันนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขูดรีดเงินจากประชาชนผ่านภาษีน้ำมันและกองทุนน้ำมันฯ สูงถึงปีละ 70,000 ล้านบาท ดังตาราง



ในขณะที่บทสรุปของนโยบายประกันรายได้ คือชาวนายกจนลง การที่รัฐประกันรายได้

ข้าวขาว 5% ที่ 11,000 บาทต่อตัน ณ ราคาอ้างอิง 8,871 บาทต่อตัน แต่ชาวนาขายข้าวได้จริงเพียงตันละ 6,000 บาทเท่านั้น
ขณะที่ในปี 2551 ที่มีการรับจำนำราคาข้าวที่เกษตรกรเคยขายได้สูงสุดที่ 16,000 บาทต่อตัน

และวันนี้ประชาชนคนไทยต้องซื้อข้าวสารขาว 5% สูงถึงตันละ 26,866 บาท รัฐบาลชุดนี้ใช้งบประมาณในนโยบายประกันรายได้ถึงปีละ 50,000 ล้านบาท

ในขณะที่โครงการรับจำนำในอดีต ใช้งบประมาณเพียงปี 28,000 ล้านบาท และยังมีรายได้
กลับเข้ารัฐอีกจากการขายข้าวที่รับจำนำ

ทั้งผลการประเมินของสศช. และข้อมูลจากส่วนต่างๆซึ่งเป็นรายงานของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการเรียกร้องของเกษตรกร น่าจะเป็นเสียงสะท้อนอย่างดีให้รัฐบาลหันมาฉุกคิดและปรับเปลี่ยนการบริหารบ้านเมืองให้มีความรอบคอบ และใช้ความรู้ความสามารถเพื่อประชาชนคนไทยที่ต่างรอคอยให้เศรษฐกิจทั้งของตนเองและของประเทศดีขึ้นอย่างแท้จริง มิใช่แค่ภาพลวงตาเหมือนที่ผ่านมา.







นโยบายประกันรายได้


ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ระหว่างนโยบายประกันรายได้กับนโยบายรับจำนำ
ดร.เบญจวรรณ จันทระ


นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ประเภท ข้าวเปลือก เพื่อช่วยเหลือชาวนา ในช่วงราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งมี 2 แนวทางที่นิยมใช้กันคือ การประกันรายได้ขั้นต่ำ และการรับจำนำ

โดยการประกันรายได้ขั้นต่ำ เป็นการกำหนดราคาขั้นต่ำของข้าวเปลือก ซึ่งเป็นการรับรองว่าชาวนาต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าที่รับบาลประกาศ ทั้งนี้ภาครัฐจะมีการประกาศราคาข้าวอ้างอิงโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นราคาที่ตลาดต้องขายไม่ต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ แต่หากราคาประกันสูงกว่าราคาอ้างอิง รัฐบาลก็จะจ่ายส่วนต่างให้

ข้อดีของมาตรการนี้คือ เงินงบประมาณถึงมือชาวนาทุกคน แต่ก็มีข้อเสียคือ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพราะต้องจ่ายให้ชาวนาทุกคนที่มีพื้นที่เพาะปลูก โดยไม่สนใจว่าจะทำการเพาะปลูกจริงหรือไม่ จึงอาจทำให้งบประมาณที่ใช้ไปไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นการแจกเงินมากกว่าสนับสนุนให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนการรับจำนำ เป็นการยกระดับราคาสินค้าในช่วงราคาตกต่ำ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
มีหลักการคือ ชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดหรือ โดยดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากระบบ มีวิธการ 3 มาตรการคือ

 การรับจำนำจากภาครัฐ โดยกำหนดราคาเป้าหมายและจำนวนรับจำนำ
 การกระจายผลผลิต ออกนอกพื้นที่เพาะปลูกให้เร็วที่สุด
 การรับซื้อโดยตรงจากภาครัฐ ตามราคาเป้าหมาย

ดำเนินการผ่านกองทุนภาครัฐ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) และกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร รวมถึงการให้สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินภาครัฐ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ข้อดีคือ เมื่อภาวะราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาสามารถนำข้าวไปจำนำไว้กับภาครัฐได้ และเมื่อภาวะที่ข้าวราคาสูงก็สามารถซื้อคืนข้าวจากภาครัฐในราคาที่รับจำนำเพื่อนำมาขายในราคาที่สูงขึ้นได้ แต่ก็มีข้อเสียคือ หากบริหารจัดการไม่ดีและไม่เข้มงวดจะเกิดช่องโหว่ของการทุจริตได้ง่าย และหากโกดังที่เก็บไม่มีมาตรฐานจะส่งผลเสียหายต่อคุณภาพข้าวที่เก็บไว้ได้

สำหรับผลสัมฤทธิ์ ของการใช้นโยบายประกันรายได้กับรับจำนำ สามารถวิเคราะห์ได้สองส่วนใหญ่ๆ ตามวัตถุประสงค์ของการแทรกแซงคือ สามารถยกระดับราคาสินค้าเกษตรได้หรือไม่ และงบประมาณที่ใช้มากน้อยเพียงไร และเกิดความคุ้มค่าหรือไม่ บนพื้นฐานของการควบคุมการทุจริตได้

ซึ่งพบว่าการใช้นโยบายประกันรายได้ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ณ เดือนมีนาคม 2554 มีราคา ณ ราคาตลาด ลดลงมาอยู่ที่ 8,847 บาทต่อตัน และเคยสูงสุดอยู่ที่ตันละ 9,000 บาท แต่ชาวนาขายได้จริง 6,000 บาทต่อตัน
ส่วนการใช้นโยบายรับจำนำข้าว ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ในปี 2551 เฉลี่ยที่ 12,000 บาทต่อตัน และเคยสูงสุดที่ระดับ 16,000 บาทต่อตัน และเป็นราคาที่ชาวนาขายได้จริง

สำหรับการใช้งบประมาณในมาตรการประกันรายได้ รัฐต้องใช้งบประมาณสูงถึงปีละ 50,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการรับจำนำใช้งบประมาณปีละ 28,000 ล้านบาท รวมกับค่าใช้จ่ายเช่าโกดังอีกปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท



จากข้อมูลข้างต้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มาตรการประกันรายได้ใช้งบประมาณสูงกว่า มาตรการรับจำนำเกือบเท่าตัว อีกทั้งยังทำให้ราคาขายในประเทศตกต่ำลง ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการแทรกแซงราคาข้าวเพื่อชาวนา ทั้งนี้เพราะการที่ไปกำหนดราคาประกันนั้นเป็นการกำหนดเพดานของราคาขายข้าวในประเทศไปโดยปริยาย ดังนั้นหากราคาตลาดโลกไม่ขยับขึ้นสูงอย่างรุนแรงจริงๆ ราคาในประเทศก็จะอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ต้นทุนไม่ได้ถูกกดเพดานไว้ตาม




Friday, June 18, 2010

วิเคราะห์งบประมาณกระทรวงพลังงาน

วิเคราะห์งบประมาณกระทรวงพลังงาน

ดร.เบญจวรรณ จันทระ
15 มิถุนายน 2553

ภาพรวม
งบเพิ่มจาก 1,869.4813 ล้านบาท เป็น 2,130 ล้านบาท โดยมีการปรับขึ้นทุกหน่วยงาน ในขณะที่ เป็นมีหน้าที่หลักคือ กำหนดนโยบายและแผนงานเชิงยุทธศาสตร์

กรมเชื้อเพลิง
งบเพิ่มจาก 176.5479 ล้านบาท เป็น 216.6866 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.73% ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้มีการสำรวจ พัฒนา ผลิตและบริการการจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติแบบบูรณาการ แต่กลับของบเพิ่มสูงถึง 22.73%

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) ประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายสำหรับการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายในปี 2552 คิดเป็นเพียง 66% ของงบประมาณ ในปี 2553 เบิกจ่ายแล้วเพียง 36.31% ในขณะที่ภาระหน้าที่ยังเหมือนเดิม แต่กลับของบประมาณเพิ่มในปี 2554 เพิ่มขึ้นอีก 22.73% แสดงว่าของบเกินจริงถึง 86% แต่ประสิทธิภาพในการดำเนินงานมีแนวโน้มลดลงจากปี2552 จนถึงปี2553
คือ การให้สัมปทานในปี 2552 ทำได้ 80 แปลงสำรวจ ปี2553 ทำได้ 84 แปลงสำรวจ แต่ปี2554 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 74 แปลงสำรวจ แต่ใช้งบประมาณสูงกว่า

กรมธุรกิจพลังงาน
งบเพิ่มจาก 273.8528 ล้านบาท เป็น 291.5879 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.48% ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลและพัฒนามาตรฐานธุรกิจพลังงานในด้านการค้า คุณภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมและความมั่นคง

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) ประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายสำหรับการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายเกี่ยวกับการอนุญาต กำกับดูแลธุรกิจพลังงานในปี 2552 ทำได้ 79,582 รายใช้งบประมาณ 197.627 ล้านบาท ในปี 2553 ทำได้แล้ว 41,447 รายใช้งบประมาณ 94.758 ล้านบาท แต่ปี 2554 ตั้งงบประมาณ 279.8114 ล้านบาท แต่มีเป้าหมายเดียวกับปี2553 ในขณะที่ผลการดำเนินงานในปี2553 ทำได้จริงเพียง 39.95% แสดงให้เห็นถึงการไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย แต่กลับของบประมาณเพิ่มอีก
2) ภาระผูกพันที่เป็นค่าเช่ารถยนต์ 13 คัน และค่าเช่าสำนักงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นในปี2554 ในขณะที่ปี2552และ2553 ไม่มีรายจ่ายในส่วนนี้

กรมพลังงานทดแทน
งบเพิ่มจาก 830.8188 ล้านบาท เป็น 953.2632 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.74% ซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นงานด้านยุทธศาสตร์

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) การไม่มีประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายสำหรับการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้
- การสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้ NGV โดยเฉพาะในโครงการปรับเปลี่ยนรถแท็กซี่ 50,000 คัน ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี2552 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผลงานที่ชัดเจน
- การผลิตและใช้พลังงานทดแทน ในปี2552 ตั้งงบประมาณสูงถึง 922.295 ล้านบาทแต่ดำเนินการจริงเพียง 53% และได้ผลงานคือพลังงานทดแทนที่ผลิตได้ 319.491 KTOE จากเป้าคือ 596.154 KTOE ส่วนในปี2553 ตั้งเป้าหมายที่ 441.8388 KTOE แต่ทำๆได้จริงเพียง 149.3188 KTOE คิดเป็น 33.79% และใช้งบประมาณไป 243.7436 ล้านบาท จากงบที่ตั้งไว้ 682.4808 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ามีการตั้งงบประมาณไม่สอดคล้องกับประสิทธิภาพในการดำเนินงาน คือตั้งงบประมาณสูงในขณะที่ได้ผลงานระดับต่ำมาก เช่นเดียวกับปี2554 ที่ตั้งงบประมาณสูงถึง 571.5679 ล้านบาท เป็นสัดส่วนถึง 59.95% ของงบประมาณทั้งหมดในหน่วยงาน

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
งบเพิ่มจาก 62.294 ล้านบาท เป็น 91.7644 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.3% ซึ่งมีหน้าที่ในการเสนอแนะ นโยบายและแผนการพัฒนาพลังงานของประเทศ

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) การไม่มีประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายสำหรับการดำเนินงานให้บรรลุโดยเฉพาะในส่วนของการดูแลระดับราคาพลังงานของไทยให้เป็นธรรมและเหมาะสมกับสภาวะของสังคม ซึ่งที่ผ่านมาระดับราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันสูงเกินจริงถึงลิตรละ 10-12 บาท ในขณะที่รายได้ของประชาชนไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปเดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมและเหมาะสม
2) ในส่วนของงานวิเคราะห์ เสนอแนะยุทธศ่าสตร์ นโยบาย แผนงานและมาตรการด้านพลังงาน ในปี2552 ใช้งบประมาณไป 7.063 ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 17.97 ล้านบาท แต่มีผลงานคือรายงาน 6 ฉบับ ซึ่งตามเป้าหมาย แสดงว่าตั้งงบเกินจริงถึง 60.69% เช่นเดียวกับปี2553 ที่ใช้งบไปแล้วเพียง 13% กับเป้าหมายเดิม แต่กลับของบเพิ่มในปี2554 ถึง 32.09446 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 97.48%
3) ในส่วนของงานวิเคราะห์ เสนอแนะ นโยบาย แผนงานและมาตรการด้านการจัดการพัฒนาปิโตเลียม ด้านไฟฟ้า และด้านอนุรักษ์ ในปี2552 ใช้งบประมาณไป 18.266 ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 32.112 ล้านบาท แสดงว่าตั้งงบเกินจริงถึง 43.12% เช่นเดียวกับปี2553 ที่ใช้งบไปแล้วเพียง 3.687 ล้านบาท กับเป้าหมายเดิม แต่กลับของบเพิ่มในปี2554 ถึง 18.8549 ล้านบาท
4) ในส่วนของงบการสนับสนุนการปฏิบัติงาน ในปี2552 ใช้งบประมาณไป 37.136 ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 22.367 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งในปี2554 กลับของบสูงถึง 40.81504 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 88.68% แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในการจัดทำงบประมาณอย่างชัดเจน



Tuesday, June 15, 2010

วิเคราะห์งบฯ กระทรวงการคลัง


วิเคราะห์งบประมาณกระทรวงการคลัง

ดร.เบญจวรรณ จันทระ
8 มิถุนายน 2553

ภาพรวม (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 1 หน้า 23-24)
งบประมาณลดลงจาก 215,709,678,200 บาท หรือ 215,709.6782 ล้านบาท เป็น 209,119.99 ล้านบาท ลดลง 6,590 ล้านบาท คิดเป็นลดลง 3%

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) กรมที่มีหน้าที่หารายได้กลับมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ดังนี้
- กรมศุลกากรงบประมาณเพิ่มขึ้น 13%
- กรมสรรพสามิตงบประมาณเพิ่มขึ้น 10%
- กรมสรรพากรงบประมาณเพิ่มขึ้น 8%
ซึ่งการเพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของงบลงทุน และรายจ่ายในงบลงทุนนั้นเป็นการใช้
จ่ายเพื่อซื้อครุภัณฑ์ทั้งสิ้น ดังนั้นงบประมาณที่ใช้จ่ายไปจึงไม่เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่จะมีผลให้ฐานะการคลังยิ่งขาดดุลมากขึ้น การกู้เงินมาจึงเพื่อนำมาใช้จ่ายในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดการลงทุนที่แท้จริงแต่กลับนำเงินที่กู้มาไปซื้อของ ซึ่งเงินที่นำไปซื้อของนั้นจ่ายแล้วก็หายไปไม่ได้ก่อให้เกิดการจ้างงาน รายได้ของประชาชนไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ประเทศเป็นหนี้มากขึ้น

ประเด็นที่น่าสังเกต 2) นอกจากกรมที่มีหน้าที่หารายได้กลับมารายจ่ายที่มากขึ้น ยังมีสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ที่มีงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต โดยเพิ่มขึ้นจาก 86 ล้านบาท(ตัวเลขกลมๆ) เป็น 563 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 477 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 555% ที่ปรับเพิ่มขึ้น
และในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็มีการปรับงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 285 ล้านบาท เป็น 638 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นถึง 123%

หมายเหตุ. ต่อไปนี้จะแสดงตัวเลขงบประมาณเป็นตัวเลขกลมๆ เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบาย




สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 หน้า 5-11)

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) แม้จะปรับลดงบประมาณลงจาก 1,097 ล้านบาท เหลือ 867 ล้านบาท โดยเป็นงบรายจ่ายอื่นถึง 518.99 ล้านบาท คิดสัดส่วนเป็น 60% ของงบทั้งหมดในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
2) ในส่วนของงบลงทุนกลับลดลงอย่างมาก จาก 169 ล้านบาท เหลือ 6.35 ล้านบาท ลดลงถึง 96% แต่กลับนำไปซื้อ กล้องวงจรปิด 1 ระบบ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 6.35 ล้านบาท
(จริงๆแล้วการนำไปซื้อครุภัณฑ์ต่างๆนี้ ไม่ถือเป็นงบลงทุน แต่เป็นงบรายจ่ายอุปโภคบริโภค เพราะงบลงทุนต้องเป็นการใช้จ่ายแล้วก่อให้เกิดผลตอบแทนกลับคืนมา จึงเรียกว่างบลงทุน แต่รายจ่ายที่ใช้แล้วไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทนในด้านรายได้ ไม่ถือเป็นงบลงทุน)

กรมธนารักษ์ (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 หน้า 13-20)

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 3,092 ล้านบาท เป็น 3,237 ล้านบาท โดยเป็นรายจ่ายเพื่อเช่าพื้นที่ศูนย์ราชการถึง 2,381.28 ล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลชุดก่อนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ปี 2551 นั้นอยู่ที่ 595 ล้านบาทเท่านั้น เห็นได้ว่าปรับเพิ่มขึ้นถึง 1,786 ล้านบาท เพิ่ทขึ้นถึง 300% ที่รัฐต้องจ่ายเพิ่มขึ้น
2) ในส่วนของงบลงทุนเป็นรายจ่ายเพื่อซื้อครุภัณฑ์ คือคอมพิวเตอร์ ทั้งในส่วนของงานบริหารที่ราชพัสดุ ที่เพิ่มขึ้น 31 ล้านบาทและงานทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินได้รับการดูแลตามหลักการอนุรักษ์ ที่เพิ่มขึ้น 50 ล้านบาท
(จริงๆแล้วการนำไปซื้อครุภัณฑ์ต่างๆนี้ ไม่ถือเป็นงบลงทุน แต่เป็นงบรายจ่ายอุปโภคบริโภค เพราะงบลงทุนต้องเป็นการใช้จ่ายแล้วก่อให้เกิดผลตอบแทนกลับคืนมา จึงเรียกว่างบลงทุน แต่รายจ่ายที่ใช้แล้วไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทนในด้านรายได้ ไม่ถือเป็นงบลงทุน)

กรมศุลกากร (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 หน้า 43)

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 2,418 ล้านบาท เป็น 2,744 ล้านบาท โดยงบบุคคลากรกลับลดลงในขณะที่งบดำเนินการกลับเพิ่มขึ้นถึง 10% ไม่สอดคล้องกัน
2) ในส่วนของงบลงทุน เพิ่มขึ้นจาก 164.9 ล้านบาท เป็น 510.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 346 ล้านบาท คิดเป็น 209.69% เป็นรายจ่ายเพื่อซื้อครุภัณฑ์ 45.489 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการก่อสร้างและปรับปรุงอาคาร ซึ่งตอนนี้เราเป็นหนี้มากขึ้นเพราะไปกู้มามาก แต่กลับใช้จ่ายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การใช้จ่ายเพื่อการปรับปรุงอาคารนั้นไม่ได้เป็นการกระจายรายได้แต่กระจุกตัวอยู่ที่ผู้รับเหมาไม่กี่ราย และจริงๆแล้วใช้ฝ่ายอาคารสถานที่ของกรมดูแลอยู่แล้ว

กรมสรรพสามิต (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 หน้า 53)

ประเด็นที่น่าสังเกต งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 1,966.234 ล้านบาท เป็น 2,168.886 ล้านบาท
เป็นงบลงทุน เพิ่มขึ้นจาก 64.84 ล้านบาท เป็น 257.7349 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 193 ล้านบาท คิดเป็น 297% เป็นรายจ่ายเพื่อซื้อครุภัณฑ์ 159.62 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการก่อสร้างและปรับปรุงอาคาร ซึ่งตอนนี้เราเป็นหนี้มากขึ้นเพราะไปกู้มามาก แต่กลับใช้จ่ายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การใช้จ่ายเพื่อการปรับปรุงอาคารนั้นไม่ได้เป็นการกระจายรายได้แต่กระจุกตัวอยู่ที่ผู้รับเหมาไม่กี่ราย และจริงๆแล้วใช้ฝ่ายอาคารสถานที่ของกรมดูแลอยู่แล้ว และการนำเงินไปซื้อครุภัณฑ์ต่างๆนี้ ไม่ถือเป็นงบลงทุน แต่เป็นงบรายจ่ายอุปโภคบริโภค เพราะงบลงทุนต้องเป็นการใช้จ่ายแล้วก่อให้เกิดผลตอบแทนกลับคืนมา จึงเรียกว่างบลงทุน แต่รายจ่ายที่ใช้แล้วไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทนในด้านรายได้ ไม่ถือเป็นงบลงทุน

กรมสรรพากร (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 หน้า 61)

ประเด็นที่น่าสังเกต งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 7,195.1904 ล้านบาท เป็น 7,795.8882 ล้านบาท
เป็นงบลงทุน เพิ่มขึ้นจาก 274 ล้านบาท เป็น 340 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 66 ล้านบาท คิดเป็น 24% เป็นรายจ่ายเพื่อซื้อครุภัณฑ์ 260 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการก่อสร้างและปรับปรุงอาคาร และการนำเงินไปซื้อครุภัณฑ์ต่างๆนี้ ไม่ถือเป็นงบลงทุน แต่เป็นงบรายจ่ายอุปโภคบริโภค เพราะงบลงทุนต้องเป็นการใช้จ่ายแล้วก่อให้เกิดผลตอบแทนกลับคืนมา จึงเรียกว่างบลงทุน แต่รายจ่ายที่ใช้แล้วไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทนในด้านรายได้ ไม่ถือเป็นงบลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 หน้า 69)

ประเด็นที่น่าสังเกต งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 113.4693 ล้านบาท เป็น 114.259.7 ล้านบาท
เป็นงบลงทุน เพิ่มขึ้นจาก 1.9 ล้านบาท เป็น 11.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านบาท คิดเป็น 450% เป็นรายจ่ายเพื่อซื้อครุภัณฑ์ทั้งหมด และการนำเงินไปซื้อครุภัณฑ์ต่างๆนี้ ไม่ถือเป็นงบลงทุน แต่เป็นงบรายจ่ายอุปโภคบริโภค เพราะงบลงทุนต้องเป็นการใช้จ่ายแล้วก่อให้เกิดผลตอบแทนกลับคืนมา จึงเรียกว่างบลงทุน แต่รายจ่ายที่ใช้แล้วไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทนในด้านรายได้ ไม่ถือเป็นงบลงทุน

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 หน้า 79)

ประเด็นที่น่าสังเกต งบประมาณลดลงจาก 198,032.9974 ล้านบาท เหลือ 189,819.9656 ล้านบาท แต่งบรายจ่ายอื่นกลับเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงอย่างผิดสังเกต โดย
- งานตามผลผลิตที่ 1 (หน้า 83) การบริหารจัดการหนี้สาธารณะ
งบประมาณในส่วนของรายจ่ายอื่นเพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านบาท เป็น 488 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 8,033% ซึ่งรายจ่ายที่มากที่สุดคือ การนำไปชำระเงินทุนจัดตั้ง Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) สูงถึง 476 ล้านบาท ซึ่งสูงเกินไปสำหรับการจัดตั้งหน่วยงานและในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะเป็นหนี้สินล้นตัวเช่นนี้

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 หน้า 89)

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 285.5401 ล้านบาท เป็น 638.1488 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 123.85% ในขณะที่หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานวิชาการ และงานส่วนใหญ่เป็นงานเอกสารคือวิเคราะห์เศรษฐกิจ การปรับงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้จึงไม่สมเหตุผลต่อภาระหน้าที่ของหน่วยงาน
2) ในส่วนของงบลงทุน เพิ่มขึ้นจาก 19 ล้านบาท เป็น 44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 22 ล้านบาท คิดเป็น 116% เป็นรายจ่ายเพื่อซื้อครุภัณฑ์ ทั้งหมด และการนำเงินไปซื้อครุภัณฑ์ต่างๆนี้ ไม่ถือเป็นงบลงทุน แต่เป็นงบรายจ่ายอุปโภคบริโภค เพราะงบลงทุนต้องเป็นการใช้จ่ายแล้วก่อให้เกิดผลตอบแทนกลับคืนมา จึงเรียกว่างบลงทุน แต่รายจ่ายที่ใช้แล้วไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทนในด้านรายได้ ไม่ถือเป็นงบลงทุน
3) ยังมีงบประมาณในส่วนของรายจ่ายอื่น ที่เพิ่มขึ้นจาก 76 ล้านบาท เป็น 403 ล้านบาท(หน้า 95) เพิ่มขึ้นถึง 327 ล้านบาท คิดเป็น 430%

สรุป
การเสนอใช้งบประมาณปี 2554 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่บริหารจัดการการคลังของประเทศให้มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ต้องมีวินัยในการใช้จ่ายและเคร่งครัดในการใช้จ่ายตามความเหมาะสมและสมเหตุผล นอกจากนี้ยังต้องบริหารงบประมาณใช้จ่ายให้มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและฐานะการคลังของประเทศเป็นสำคัญ ประกอบกับต้องบริหารจัดการหารายได้เข้าประเทศให้มาก แต่จากร่างงบประมาณปี 2554 ของกระทรวงการคลัง ในทุก ๆ หน่วยงาน พบว่าขาดวินัยทางการคลังอย่างสิ้นเชิง ขาดความสอดคล้องกับฐานะการคลังอย่างชัดเจน และขาดความเหมาะสมในภาระหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งมีข้อผิดสังเกตในการที่จะไปสู่การเปิดช่องโหว่ให้เกิดการคอร์รัปชั่นได้โดยง่าย

วิเคราะห์งบฯกระทรวงอุตสาหกรรม


วิเคราะห์งบประมาณกระทรวงอุตสาหกรรม

ดร.เบญจวรรณ จันทระ
10 มิถุนายน 2553

ภาพรวม (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 เล่ม 9 หน้า 249-355)
งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 5,601.945 ล้านบาท เป็น 6,749.9634 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,148.018 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 20.49%

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) การเบิกจ่ายงบประมาณปีที่ผ่านมาทั้งปี 2552 และ 2553 เบิกจ่ายจริงต่ำกว่าแผนในทุกหน่วยงาน แต่งบปี 2554 กลับมีการของบประมาณเพิ่มขึ้นอีกในทุกหน่วยงาน

ประเด็นที่น่าสังเกต 2) มีค่าใช้จ่ายในส่วนของการจ้างที่ปรึกษาและบุคลากรในแต่ละโครงการตั้งงบประมาณไว้สูงมาก เฉลี่ยแต่ละโครงการคิดเป็น 60% ของงบประมาณในแต่ละโครงการ การจ่ายค่าตอบแทนนี้ซ้ำซ้อนกับค่าจ้างบุคลากรประจำหรือไม่ หากเป็นคนละส่วนกัน ขอคำชี้แจงเรื่องการจ้างบุคลากรในแต่ละโครงการ และจำนวนบุคลากรประจำ

ประเด็นที่น่าสังเกต 3) ที่ผ่านมากระทรวงไม่มีผลงานอะไรในเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนโดยดูได้จากการขาดประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณโดยเฉพาะโครงการที่สนับสนุนในเชิงนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติงานให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย แต่กลับของงบประมาณเพิ่มเติม และส่วนใหญ่นำไปใช้ในโครงการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาซึ่งโครงการเหล่านั้นไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ยังดำเนินการต่อ แสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพอย่างชัดเจน

สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 เล่ม 9 หน้า 255)

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) งบประมาณจาก 1,164.2724 ล้านบาท เป็น 1,435.451 ล้านบาท โดยเป็นงบดำเนินการเพิ่มจาก 44.247 ล้านบาท เป็น 102.0978 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 57.8508 ล้านบาท คิดเป็น 130.75% ในขณะที่ไม่ได้จ้างบุคลากรเพิ่ม
2) ในส่วนของงบลงทุนกลับเพิ่มขึ้น 100% เพราะปีที่แล้วไม่มี แต่ปี 2554 ตั้งงบไว้เพื่อนำไปซื้อครุภัณฑ์และปรับปรุงอาคาร ซึ่งมีราคาที่สูงเกินจริงเมื่อเทียบกับราคาตลาด

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 เล่ม 9 หน้า 281)

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) งบประมาณจาก 964.7373 ล้านบาท เป็น 1,058.6264 ล้านบาท โดยเป็นงบรายจ่ายอื่น 605.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8 % โดยนำไปใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาสูงถึง 309.891 ล้านบาท คิดสัดส่วนเป็น 64.5% ของงบในส่วนนี้

ประเด็นที่น่าสังเกต 2) ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับการจ้างที่ปรึกษาในโครงการต่างๆ
- โครงการพัฒนาขีดความสามารถของไทยในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ใช้งบประมาณจ้างที่ปรึกษาสูงถึง 37.5 ล้านบาท (เอกสารชี้แจง หน้า 19)
- กิจกรรมการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม ใช้งบประมาณจ้างที่ปรึกษาสูงถึง 22.5 ล้านบาท (เอกสารชี้แจง หน้า 22) เพิ่มจากปี 2553 ถึง 67.66%
- โครงการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจ SMEs ในภาคอุตสาหกรรม ใช้งบประมาณจ้างที่ปรึกษาสูงจาก 63.705 ล้านบาท เป็น 110.85 ล้านบาท (เอกสารชี้แจง หน้า 32) เพิ่มจากปี 2553 ถึง 74% โดยมีการจ้างที่ปรึกษาในจำนวนที่สูงมากถึง 394 คน กับโครงการระยะเวลา 3 เดือน ไม่โปร่งใสอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวสูงถึง 11.625 ล้านบาท ซึ่งหากพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่ต้องเสียงบประมาณไปจ้างที่ปรึกษาที่สูงถึง 110.85 ล้านบาท
- กิจกรรมส่งเสริมนวัตกรรมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ใช้งบประมาณจ้างที่ปรึกษาสูงจาก 13.59 ล้านบาท เป็น 22.5 ล้านบาท (เอกสารชี้แจง หน้า 35) และเมื่อดูวัตถุประสงค์แล้วซ้ำซ้อนกับ โครงการพัฒนาขีดความสามารถของไทยในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ
- กิจกรรมการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ใช้งบประมาณจ้างที่ปรึกษาสูงจาก 118.238 ล้านบาท เป็น 161.5 ล้านบาท (เอกสารชี้แจง หน้า 37) เพิ่มจากปี 2553 ถึง 36.59%
- กิจกรรมการให้บริการปัจจัยสนับสนุนการประกอบการ ใช้งบประมาณจ้างที่ปรึกษาสูงจาก 1.75 ล้านบาท เป็น 5.5 ล้านบาท (เอกสารชี้แจง หน้า 39) เพิ่มจากปี 2553 ถึง 214% ซึ่งเป็นโครงการซ้ำซ้อนกับกิจกรรมการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่

ประเด็นที่น่าสังเกต 3) โครงการต่างๆเป็นโครงการต่อเนื่องทั้งหมด ซึ่งโครงการต่อเนื่องหมายถึง เป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติเงินไปแล้ว แต่กลับมาขอซ้ำอีก หรือจริงๆแล้วเป็นโครงการระยะยาว โดยเบิกจ่ายตามภาระผูกพัน

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 เล่ม 9 หน้า 295 และ เอกสารชี้แจงของหน่วยงาน)
งบประมาณจาก 305.3287 ล้านบาท เป็น 393.853 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.99%

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) ในผลผลิตที่ 1(เอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 เล่ม 9 หน้า 299 ข้อ 7.1.1 ) ในข้อ 2 เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่อุตสาหกรรมพื้นฐาน และภาคอุตสาหกรรมให้มีความสามารถในการผลิตและมีมูลค่าที่สูงขึ้น โดยมีเป้หมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ทั้งปี 2553 และปี 2554 ใช้เป้าหมายเดียวกัน ในขณะที่ปี 2554 กลับของบเพิ่มขึ้น(เป้าหมายไม่ได้เพิ่มขึ้น) จาก 119.717 ล้านบาทเป็น 159.7749 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.6049 ล้านบาท เพิ่ม 33%

ประเด็นที่น่าสังเกต 2) งบรายจ่ายอื่นเพิ่มขึ้นจาก 30.75 ล้านบาท เป็น 69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.25 ล้านบาท เพิ่มถึง 124.39% เป็นรายจ่ายในโครงการต่างๆ สำหรับจ่ายค่าจ้างที่ปรึกษา สูงถึง 57.4 ล้านบาท เป็นสัดส่วนถึง 83% ของงบประมาณในส่วนนี้ นอกจากนี้ อัตราค่าจ้างที่ปรึกษาแต่ละโครงการต่อคนต่อเดือน ไม่เท่ากัน ในขณะที่ประสบการณ์เท่ากันและเป็นโครงการระดับเดียวกัน เช่นในตำแหน่งหัวหน้าโครงการบางโครงการจัดสรรให้เดือนละ 123,200 บาทต่อคน บางโครงการจัดสรรให้เดือนละ 70,400 บาทต่อคน

ประเด็นที่น่าสังเกต 3) เมื่อมีการจ้างที่ปรึกษาในโครงการต่างๆพร้อมจ้างบุคลากรในการดำเนินในโครงการต่างๆด้วย ดังนั้นงบประมาณในส่วนของงบดำเนินงานและค่าจ้างบุคลากรประจำของหน่วยงานซ้ำซ้อนกัน เปิดช่องให้เกิดการคอร์รัปชั่นอย่างมาก

ประเด็นที่น่าสังเกต 4) มีหลายโครงการที่ของบประมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2553 เป็นเท่าตัว ในขณะที่ผลงานและผลสัมฤทธิ์จากปี 2553 ยังไม่ปรากฏ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโครงการนั้นไม่มีประสิทธิภาพ แต่กลับยังของบประมาณต่อเนื่อง ทำให้สูญเสียงบประมาณไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน

ประเด็นที่น่าสังเกต 5) มีบางโครงการที่มีวัตถุประสงค์เหมือนกันแต่แยกโครงการ เช่นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาการเชื่อมโยงโซ่อุปทานและปัจจัยพื้นฐานสำหรับภาคอุตสาหกรรมโดยปี 2553 งบประมาณอยู่ที่ 3 ล้านบาท แต่ปี 2554 ขอเพิ่มเป็น 31.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 956.67% ในขณะที่โครงการนี้ยังไม่มีผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน แต่กลับของบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก อีกทั้งยังซ้ำซ้อนกับโครงการจัดทำระบบสารสนเทศโซ่อุปทานอุตสาหกรรมพื้นฐานรายสาขา ซึ่งของบใช้จ่ายถึง 24 ล้านบาท เพราะการทำโครงการแรก ก็จะได้ผลในโครงการที่สองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำโครงการซ้ำซ้อนกัน

ประเด็นที่น่าสังเกต 6) ในผลผลิตของหน่วยงานเกี่ยวกับ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม จากงบประมาณปี 2552 คือ 5.8 ล้านบาท ปี 2553 ปรับขึ้นเป็น 6.9 ล้านบาท และในปี 2554 ของบสูงถึง 21.35 ล้านบาท เพิ่มถึง 209.4% เมื่อเทียบกับปี 2553 ในขณะที่เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายเป็นสำคัญ ดังนั้นการของบประมาณที่สูงอย่างมากจึงไม่เหมาะสมกับภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบ

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 เล่ม 9 หน้า 307 และ เอกสารชี้แจงของหน่วยงาน)
งบประมาณจาก 373.8315 ล้านบาท เป็น 739.7138 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 365.8823 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 97.87% ซึ่งเป็นหน่วยงานเชิงนโยบาย ที่มีหน้าที่เสนอแนะ ชี้นำ และกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เกิดความเป็นธรรม และแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) งบประมาณปี 2552 คือ 389.33 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง ณ 30 ก.ย. 2552 เท่ากับ 341.9862 ล้านบาท คิดเป็นเบิกจ่ายจริงเพียง 88.8% ส่วนงบประมาณปี 2553 คือ 373.83 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง ณ 30 เม.ย. 2553 เท่ากับ 266.1403 ล้านบาท คิดเป็นเบิกจ่ายจริงเพียง 71.1927% นั่นแสดงให้เห็นถึงการไม่มีประสิทธิภาพอีกทั้งยังปรากฏผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน แต่กลับจัดทำของบประมาณเพิ่มขึ้นในปี 2554 เพิ่มอีก 365.8823 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย อีกทั้งยังบ่งบอกได้ถึงความไม่โปร่งใสในการของบประมาณอีกด้วย

ประเด็นที่น่าสังเกต 2) ในส่วนของงบภาระผูกพัน คือค่าใช้จ่ายในการเช่ายานพาหนะ ที่มีมูลค่าสูงถึง 22.8552 ล้านบาท หากจัดทำเป็นการซื้อเลยจะเสียค่าใช้จ่ายในระยะยาวต่ำกว่านี้มาก แสดงให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดี

ประเด็นที่น่าสังเกต 3) มีการจ้างที่ปรึกษาในโครงการต่างๆ เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ พร้อมจ้างบุคลากรในการดำเนินในโครงการต่างๆด้วย ดังนั้นงบประมาณในส่วนของงบดำเนินงานและค่าจ้างบุคลากรประจำของหน่วยงานซ้ำซ้อนกัน เปิดช่องให้เกิดการคอร์รัปชั่นอย่างมาก

ประเด็นที่น่าสังเกต 4) มีบางโครงการที่มีวัตถุประสงค์เหมือนกันแต่แยกโครงการ เช่นโครงการการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย (ตามเอกสารชี้แจงหน้า 24) ที่มีงบประมาณถึง 42.6 ล้านบาท กับโครงการค่าใช้จ่ายในการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาด้านอ้อย (ตามเอกสารชี้แจงหน้า 43) ที่มีงบประมาณถึง 21 ล้านบาทซึ่งมีวัตถุประสงค์เดียวกัน และได้ผลลัพธ์เดียวกัน

สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 เล่ม 9 หน้า 321 และ เอกสารชี้แจงของหน่วยงาน)
งบประมาณจาก 605.1564 ล้านบาท เป็น 757.3296 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 152.1732 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 25.15% ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) งบประมาณปี 2552 คือ 675.6197 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง ณ 30 ก.ย. 2552 เพียง 71.5% ส่วนงบประมาณปี 2553 คือ 605.1564 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง ณ 30 เม.ย. 2553 เพียง 36.29% นั่นแสดงให้เห็นถึงการไม่มีประสิทธิภาพอีกทั้งยังปรากฏผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน และเหลือเวลาสิ้นสุดงบประมาณอีกเพียง 4 เดือน ซึ่งเบิกจ่ายไม่ทันอย่างแน่นอน แต่กลับจัดทำของบประมาณเพิ่มขึ้นในปี 2554 เพิ่มอีก 25.15% ซึ่งไม่สอดคล้องกับประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย และแสดงว่าจัดทำงบประมาณเกินจริงมากกว่า 60% นั่นคือความไม่โปร่งใสในการของบประมาณปี 2554 นี้

ประเด็นที่น่าสังเกต 2) ตามผลผลิตที่ 1 คือ มาตรฐานที่กำหนดและร่วมกำหนด ในปี 2553 ของบไว้ 105.2652 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริงแล้วเพียง 47.6% และมีผลสัมฤทธิ์คือจำนวนเรื่องที่ดำเนินการทั้งหมด 830 เรื่อง แต่ในปี 2554 กลับของบประมาณเพิ่มเป็น 116.766 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 10.9% ในขณะที่เป้าหมาย คือจำนวนเรื่องที่ดำเนินการทั้งหมด 847 เรื่อง เป้าหมายเพิ่ม 2% แต่ของบเพิ่มถึง 10.9%

ประเด็นที่น่าสังเกต 3) ตามผลผลิตที่ 2 คือ ผู้ประกอบการได้รับการรับรองมาตรฐาน ในปี 2553 ของบไว้ 196.6723 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริงแล้วเพียง 80.1654 ล้านบาท คิดเป็น 40.76% แต่ในปี 2554 ของบประมาณเพิ่มเป็น 470.4267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 273.7544 ล้านบาท คิดเป็น 139.19% ในขณะที่เป้าหมายไม่ได้แตกต่างจากผลสัมฤทธิ์ แต่กลับของบเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่ได้ตามรายงานจากเอกสารชี้แจง หน้า 19 เป็นการใช้งบประมาณเพียง 80.1654 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าทำงบประมาณเกินจริงถึง 390.2613 ล้านบาท ชัดเจนในเรื่องความไม่โปร่งใสในการจัดทำงบประมาณ

ประเด็นที่น่าสังเกต 4) ในส่วนของงบภาระผูกพัน คือค่าใช้จ่ายในการเช่ายานพาหนะ หากจัดทำเป็นการซื้อเลยจะเสียค่าใช้จ่ายในระยะยาวต่ำกว่านี้มาก แสดงให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดี

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 เล่ม 9 หน้า 347 และ เอกสารชี้แจงของหน่วยงาน)
งบประมาณจาก 850.3608 ล้านบาท เป็น 963.168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112.8072 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 13.26% ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ประเด็นที่น่าสังเกต 1) งบประมาณปี 2552 ในส่วนของแผนการลงทุนในประเทศ ตั้งงบประมาณไว้ที่ 672.01 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริงเพียง 535.46 ล้านบาท คิดเป็น 79.68% ในปี 2553 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 850.36 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริงเพียง 399.01 ล้านบาท(ณ 30 เม.ย. 2553) คิดเป็น 46.922% ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือน จะสิ้นสุดปีงบประมาณ คาดการณ์ว่าทำการเบิกจ่ายไม่ทันอย่างแน่นอน แต่กลับจัดทำงบประมาณปี 2554 เพิ่มขึ้นอีก จากงบปี 2553 ที่ยังเบิกจ่ายไม่ครบ ซึ่งหากคิดจากงบประมาณปี 2552 ที่เบิกจ่ายจริงจะพบว่ามีการตั้งงบประมาณปี 2554 ไว้สูงเกินจริงถึง 79.88%

สรุป

กระทรวงอุตสาหกรรมทำการจัดทำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 เพิ่มขึ้นในทุกๆหน่วยงาน แต่ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงการต่างๆในแต่ละหน่วยงาน ยังขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างชัดเจน แต่กลับของบประมาณเพิ่มสูงเกินจริงเฉลี่ยถึง 60% ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้นนี้ รัฐบาลต้องทำการกู้ยืมเพื่อมาชดเชยการขาดดุล ทำให้ประเทศต้องเป็นหนี้อย่างไม่จำเป็น ดังนั้นหากจัดทำงบประมาณตามความเป็นจริงและมีความโปร่งใสก็จะไม่ต้องทำการกู้หนี้สาธารณะ ประชาชนก็จะไม่เป็นหนี้ที่ไม่สมเหตุผลอีกต่อไป